Download as pdf or txt
Download as pdf or txt
You are on page 1of 5

จิตของบัณฑิต ย่อมไม่หวั่นไหว

บัณฑิตย่อมไม่หวั่นไหวในนินทาและสรรเสริญ

พุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้แปลความว่า “ภูเขาหินแท่งทึบ ไม่


สั่นสะเทือนเพราะลมฉันใด บัณฑิตย่อมไม่หวั่นไหวในนินทา
และสรรเสริญ ฉันนั้น”

พระพุทธองค์ทรงเปรียบบัณฑิตดังภูเขาหินแท่งทึบ เหตุด้วย
บัณฑิตไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ นั่นคือทรง
แสดงว่าบัณฑิตมีคุณลักษณะของภูเขา คือ มีความหนักแน่น
ความแข็งแกร่ง ความผนึกติดกับพื้นฐานใหญ่มั่นคง คือ ความ
ดี ความมีสติปัญญา

“บัณฑิต” ในพระพุทธศาสนา หายถึง คนดีมีปัญญา ผู้เป็นคนดี มีปัญญาเพียงพอย่อมรู้ธรรม ย่อม


เชื่อมั่นในกรรม ย่อมไม่หวั่นไหว เมื่อมีผู้เจรจาส่งเสริมเพื่อให้สูงขึ้นย่อมรู้ว่า “กรรม” คือ “การ
กระทํา” ความประพฤติปฏิบัติของตนเองเท่านั้นที่จะเหยียบย่ําตนให้ต่ําลงได้ หรือส่งเสริมตนให้สูงขึ้น
ได้ ผู้ใดอื่นหาทําได้ไม่ นินทาก็ตาม สรรเสริญก็ตาม ไม่อาจทําได้ ทั้งเพื่อให้คนต่ําลงหรือสูงขึ้น สําหรับ
บัณฑิต นินทาและสรรเสริญจึงย่อมทําให้เกิดเมตตาในผู้นินทา และกตัญญูรู้น้ําใจผู้สรรเสริญเพียง
เท่านั้น มิได้ทําให้หวั่นไหวแต่อย่างใด

บัณฑิตเป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม

จิตใดที่เป็นจิตของบัณฑิต คือ ผู้มีปัญญาในธรรม ผู้ได้ศึกษาธรรมได้ปฏิบัติธรรม ได้รับผลแห่งธรรม


ปฏิบัติ มีสมบัติที่เป็นธรรม คือ “ธรรมสมบัติ”

จิตนั้นมีคุณลักษณะเปรียบได้ดั่งภูเขาหินแท่งทึบ ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมอันผู้อยู่ในโลกจะต้องพบเป็น
ธรรมดา เพราะเป็นสิ่งมีประจําโลกทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว คือ ทั้งลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อยศ
นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์

ผู้มีใจเป็นบัณฑิต เพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะแห่งบัณฑิต แม้ต้องเผชิญโลกธรรมทั้ง 8 นี้ อย่างใด


อย่างหนึ่ง ไม่ว่าฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว ย่อมมีใจตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
ความหวั่นไหว เป็นความผิดปกติแห่งจิตทั้งสิ้น

อันความหวั่นไหวแห่งจิตนั้น เกิดขึ้นได้ไม่
เฉพาะเพียงเมื่อประสบโลกธรรมฝ่ายชั่ว การ
ประสบโลกธรรมฝ่ายดีก็ทําให้จิตหวั่นไหวได้

ความหวั่นไหวแห่งจิต หมายถึง ความที่จิต


กระเพื่อมผิดจากปกติ กระเพื่อมด้วยความ
เสียใจหรือกระเพื่อมด้วยความดีใจ เป็นความ
หวั่นไหวแห่งจิตทั้งสิ้น เป็นความผิดปกติแห่ง
จิตทั้งสิ้น และความผิดปกติแห่งจิตนั้น แม้จะเป็นไปในทางรื่นเริงยินดี ผู้มีปัญญาในธรรม ก็ไม่ถือเป็น
สิ่งที่พึงปรารถนา ผู้เสียสติหัวเราะ หรือผู้เสียสติร้องไห้ ก็คือผู้เสียสตินั่นเอง

จิตของบัณฑิต หนักแน่นดั่งภูเขาหินแท่งทึบ

ความดีใจเพราะได้ประสบโลกธรรมฝ่ายดี หรือความเสียใจเพราะได้ประสบโลกธรรมฝ่ายชั่ว บัณฑิตผู้


มีปัญญาย่อมไม่เห็นว่า เป็นความปกติแห่งจิต ย่อมเห็นเป็นความผิดปกติแห่งจิตทั้งสิ้น

บัณฑิตผู้มีปัญญา ย่อมมีจิตสงบตั้งมั่นอยู่ในความเป็นปกติเสมอ ดั่งภูเขาหินแท่งทึบตั้งอยู่มั่นคงเป็น


ปกติ ไม่สั่นสะเทือน แม้ในความกระทบกระแทกรุนแรงไม่ว่างเว้นแห่งลมพายุใหญ่

ปัญญาเป็นรากฐานของความสงบแห่งจิต

ความสงบตั้งมั่นเป็นปกติแห่งจิต มิได้เกิดจากอะไรอื่น แต่เกิดจากปัญญา ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สําคัญที่สุด


ปัญญาที่หยั่งรู้ความจริงโดยแท้เป็นเหตุให้จิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว

อบรมปัญญา เพื่อความสงบตั้งมั่นแห่งจิต
การอบรมปัญญา คือ การใช้ปัญญาให้อย่างยิ่งเสมอ จึงเป็นความจําเป็นสําหรับผู้ต้องการความสงบตั้ง
มั่นแห่งจิต

การอบรมปัญญา ก็เช่นเดียวกับการเลี้ยงดูต้นไม้เล็กต้นไม้น้อยที่ปลูกอยู่แล้ว มีอยู่แล้ว ให้เจริญเติบโต

ต้นหมากรากไม้ต้องการปุ๋ยต้องการน้ํา ปัญญาต้องการสัญญา ความจําได้หมายรู้ ต้องการสติความ


ระลึกได้ถึงสิ่งที่ทํา คําที่พูดของตนและของคนทั้งหลาย ที่ได้พูดได้ทําได้ยินได้ฟังมาแล้วแม้นานได้ และ
ต้องการความสม่ําเสมอ
สัญญาความจําที่ดีงาม นําไปสู่ความสงบแห่งใจ

สัญญาความจํา ต้องเป็นความจําสิ่งที่เป็นปัญญา และเป็นเหตุแห่งปัญญา เช่น คําสอนใน


พระพุทธศาสนา อันเป็นสิ่งที่เป็นพระปัญญาในพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงสอนล้วนแต่ความดีงาม
เป็นปัญญาที่จะนําไปสู่ความสุขสงบ บริสุทธิ์แห่งจิตใจ

สัญญาความจําต้องประกอบพร้อมด้วยสติ

สัญญา คือ ความจํา เป็นอนัตตา คือ ไม่เป็นไปตาม


ความปรารถนาต้องการ ปรารถนาให้จําไว้ก็ไม่จํา
ปรารถนาให้ลืมก็ไม่ลืม ปรารถนาไม่ให้จําก็จํา
ปรารถนาไม่ให้ลืมก็ลืม และความจําที่เป็นสัญญา ก็
เป็นความจําตรงไปตรงมาทั้งชิ้นทั้งเรื่อง ดังนั้น
สัญญาจึงต้องประกอบพร้อมด้วยสติ เพราะสติเป็น
ความระลึกได้ที่ประกอบพร้อมด้วยเหตุและผล สติ
ไม่ได้เป็นความจําแบบสัญญา

“สัญญา” กับ “สติ” ต่างกันอย่างยิ่ง

ความจํา คือ สัญญานั้น แม้จะตั้งใจรักษาไว้ก็อาจรักษาไว้ไม่ได้ ต้องลืม แต่สติความระลึกได้นั้น เมื่อตั้ง


สติไว้ รู้เรื่องพร้อมกับรู้เหตุรู้ผล ก็จะมีสติอยู่ได้ เหตุการณ์ทั้งหลายที่ประสบพบผ่านแม้นาน เมื่อสติ
ระลึกได้ ก็จะระลึกได้พร้อมทั้งเหตุทั้งผลทั้งปวง

สัญญาความจํากับสติความระลึกได้ มีความแตกต่างกันที่สําคัญอย่างยิ่ง ในเรื่องเดียวกัน สัญญาอาจ


เป็นคุณ แต่ก็อาจเป็นโทษ ส่วนสติเป็นคุณไม่เป็นโทษ ความพยายามมีสติระลึกรู้ จึงเป็นความถูกต้อง
และเป็นไปได้ยิ่งกว่าพยายามจดจําด้วยสัญญา

ความจําอันเป็นสัญญานั้นมีผิด เพราะมีลืม และมีโทษเพราะไม่ประกอบพร้อมด้วยเหตุผลความรู้ถูกรู้


ผิด โทษของสัญญา คือ ความไม่สงบแห่งจิต แตกต่างกับความไม่ลืมมีสติระลึกได้ ซึ่งประกอบพร้อม
ด้วยเหตุผล ความรู้ถูกรู้ผิดอันเป็นปัญญา และปัญญานั้นไม่มีโทษ มีแต่คุณ มีแต่นําไปสู่ความสงบแห่ง
ทุกข์ ความสงบแห่งจิต และจิตยิ่งสงบเพียงใด ยิ่งตั้งมั่นเพียงใด ปัญญายิ่งสว่างรุ่งโรจน์มีพลังเพียงนั้น
คุณที่สําคัญของปัญญา

คุณที่สําคัญยิ่งประการหนึ่งของปัญญา คือ ความเข้าใจในโลกธรรม ความเข้าใจในชีวิต ว่าเมื่อเกิดอยู่


ในโลกก็ต้องพบโลกธรรมทั้ง 8 และโลกธรรมนั้นก็เช่นเดียวกับสิ่งทั้งปวง ธรรมทั้งปวงย่อมเกิดขึ้นและ
ดับไปเป็นธรรมดา สรรเสริญและนินทา ก็เป็นโลกธรรม ย่อมต้องพบด้วยกันทุกคน พระพุทธเจ้ายัง
ทรงพบ และย่อมเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดาเช่นกัน บัณฑิต คือ ผู้มีปัญญา เมื่อประสบนินทาและ
สรรเสริญ จึงมีจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว

ความหวั่นไหวแห่งจิต
ย่อมเป็นโทษอย่างยิ่ง เมื่อเกิดแก่ผู้ใด

ในขอบเขตแคบ ๆ สรรเสริญ นินทา


หมายถึงเพียงที่เกี่ยวกับตนเอง แต่กว้าง
ออกไป สรรเสริญ นินทา หมายถึง ที่
เกี่ยวกับผู้อื่นทั้งปวง ที่ตนไปได้ยินได้ฟังได้
รู้ได้เห็นด้วย ไม่ว่านินทาสรรเสริญจะ
เกี่ยวกับใคร บัณฑิตได้รู้ได้เห็นได้ยินได้ฟัง
ย่อมไม่หวั่นไหว จิตตั้งมั่นสงบเป็นปกติอยู่

อันความหวั่นไหวของจิต ไม่เพียงเป็นโทษ
แก่จิต ทําให้จิตไม่ตั้งอยู่ในความสุขสงบ
เท่านั้น แต่ยังเป็นโทษส่งออกปรากฏ เป็นการกระทําทางกาย ทางวาจา อีกด้วย เพราะใจที่หวั่นไหว
ด้วยนินทาสรรเสริญ ย่อมทําให้คิดให้พูดให้ทําไปตามอํานาจความหวั่นไหว ปรากฏเป็นความลืมตัว
ความก้าวร้าว แข็งกระด้าง ความโศกเศร้า ขาดสติ ความอ่อนแอ ความขาดเหตุผล ความเชื่อง่ายหูเบา
เป็นต้น อันลักษณะเช่นนี้ปรากฏในผู้ใด ผู้นั้นย่อมไม่เป็นที่สรรเสริญโดยควร

ผู้มีปัญญา พึงตามรักษาจิตไม่ให้หวั่นไหว

บัณฑิตผู้มีปัญญาเข้าใจในเรื่องของโลกธรรม รู้คุณของจิตที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม รู้โทษของจิตที่


หวั่นไหวด้วยโลกธรรม จึงอบรมสติอบรมปัญญา ตามรักษาจิตทุกเวลาให้ทัน ให้พ้น ให้ไกลจากความ
หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ทั้งฝ่ายดี และ ฝ่ายชั่ว ตั้งมั่นเป็นสุขสงบอยู่

จากหนังสือ....‘ตน อันเป็นที่รักยิ่งของตน’ พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร


สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประโยคทิ้งท้าย :

ชีวิตเราในโลกนี้ มันก็มีแต่ความเจริญแล้วก็เสื่อม

มีลาภ แล้วเสื่อมลาภ
มียศ แล้วเสื่อมยศ
มีสรรเสริญ ก็มีนินทา
มีสุข แล้วต้องมีทุกข์
ไม่มีใครหนีพ้น แม้แต่พระพุทธเจ้า

“อุบาสิกา...ณชเล”

You might also like