Download as pdf or txt
Download as pdf or txt
You are on page 1of 4

แนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัย

การเจริญเติบโตและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยช่วงอายุ ๐ – ๕ ปี ถือว่ามีความสําคัญต่อพัฒนาการ
ของเด็กที่จะปลูกฝังให้เด็กเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นรากฐานการดําเนินชีวิตในอนาคตต่อไป พ่อแม่ควร
ตระหนักถึงความสําคัญและดูแลเอาใจใส่ในการอบรมเลี้ยงดูลูกในช่วงวัยดังกล่าว ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud,
1949) นักจิตวิเคราะห์ได้ย้ําให้เห็นว่า วัยเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์คือ ระยะ ๕ ปีแรกของคนเรา ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับ
ในตอนต้น ๆ ของชีวิตจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนเราตลอดจนถึงวาระสุดท้าย เขาเชื่อว่าการอบรมเลี้ยงดูในระยะ
ปฐมวัยนั้นจะมีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กในอนาคต อิริคสัน (Erikson, 1967) กล่าวว่า วัยทารกตอนปลาย
เป็นช่วงที่บุคคลเรียนรู้เจตคติของความมั่นใจหรือไม่มั่นใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับการที่พ่อแม่ให้สิ่งที่เด็กต้องการ สําหรับอาหาร
การเอาใจใส่ และความรักอย่างชื่นชม เจตคติเหล่านี้ซึ่งเด็กมีอยู่จะคงอยู่มากหรือตลอดชีวิตและสามารถสร้าง
ความรู้ความเข้าใจของคนทั่วไปและสถานการณ์ของบุคคลได้
ซึ่งจากคํากล่าวข้างต้นยิ่งตอกย้ําถึงความสําคัญของการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย แต่ด้วยภาวะสังคม
และเศรษฐกิจในปัจจุบันพ่อแม่ต้องออกไปทํางานนอกบ้านเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวจึงไม่มีเวลาอบรมเลี้ยงดูลูก
ทําให้พ่อแม่ต้องพึ่งสถานรับเลี้ยงเด็กทั้งของภาครัฐและเอกชนด้วยคาดหวังให้สถานรับเลี้ยงเด็กดูแลลูกเป็นอย่างดี
ดังนั้น ภาครัฐควรตระหนักถึงความสําคัญของการดูแลเด็กปฐมวัยและสถานรับเลี้ยงเด็กให้มีคุณภาพ เพื่อเด็กจะได้รับ
การส่งเสริมและเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทยในการศึกษา
ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้การศึกษาในระบบมีสองระดับ คือ การศึกษาขั้น
พื้นฐาน และการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วย การศึกษาซึ่งจัดไม่น้อยกว่าสิบสองปี
ก่อนระดับอุดมศึกษา โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ด เข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก
จึงเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาของเด็กช่วงวัยตั้งแต่ ๐ – ๖ ขวบ ยังไม่อยู่ในภาคบังคับตามพระราชบัญญัติการศึกษา
แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น หน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยจึงไม่ชัดเจนและมีหลาย
หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวง
สาธารณสุข และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และด้วยการจัดการศึกษาสําหรับเด็กปฐมวัยที่มี
หลายหน่วยงานนั้นทําให้ระดับการส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็กของหน่วยงานแต่ละแห่งไม่เท่าเทียมกัน อีกทั้งสถาน
พัฒนาเด็กปฐมวัยหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหลายแห่งยังคงมีมาตรฐานการดูแลเด็กปฐมวัยต่ํากว่ามาตรฐาน จนอาจ
ส่งผลถึงโอกาสของการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรได้รับอย่างเท่าเทียมกันจากภาครัฐ
ดังนั้น คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ ชุดที่ ๒๔ จึงตระหนักถึง
ความสําคัญต่อการแก้ไขปัญหาเด็กปฐมวัยให้มีสิทธิได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน จึงได้ตั้งคณะอนุ
กรรมาธิการเพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาเด็กปฐมวัยขึ้น ด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบข้อมูลในภาพรวมของการ
ดําเนินงานด้านเด็กปฐมวัยของหน่วยงานต่าง ๆ อันจะนําไปสู่การแก้ไขปัญหาเด็กปฐมวัยในด้านการส่งเสริมพัฒนาการ
ของเด็กให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศ
-๒-

และจากการพิจารณาศึกษาโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กปฐมวัย ตลอดจนการจัดสัมมนา
และศึกษาดูงานในหลายพื้นที่ พบว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลเด็กปฐมวัยเป็นหลักคือ กระทรวงศึกษาธิการ
และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย โดยปัญหาที่พบในกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการดูแลเด็ก
ปฐมวัย คือ การจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยจะอยู่รวมในโรงเรียนระดับประถมศึกษาไม่แยกเป็นเอกเทศ การให้ความสําคัญ
เกี่ยวกับการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยในโรงเรียนจึงมีน้อยกว่าระดับประถมศึกษา
ส่วนกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับการถ่ายโอนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มา
อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ พบปัจจัยเกี่ยวกับปัญหาของการดูแลเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คือปัจจัยในเรื่อง
วิสัยทัศน์ ความรู้ ความเข้าใจ และความต่อเนื่องของการดํารงตําแหน่งของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็น
อุปสรรคต่อการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทําให้เกิดช่องว่างความแตกต่างของมาตรฐานการดูแล
เด็กปฐมวัยในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง เนื่องจากการบริหารจัดการและการจัดสรรงบประมาณขึ้นอยู่กับ
ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เหตุปัจจัยที่ทําให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้ให้ความสําคัญต่อ
การส่งเสริมและพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพราะยังขาดความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสําคัญในการพัฒนา
คุณภาพชีวิต อีกทั้งการสนับสนุนและพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังเป็นปัจจัยพื้นฐานที่อยู่ในลําดับรองจากโครงสร้าง
พื้นฐานอื่นทําให้การใส่ใจหรือการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีมาตรฐานเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กยังอยู่
ในความสนใจของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน้อยกว่าการให้ความสําคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตามยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งที่ได้รับการส่งเสริมให้มีมาตรฐาน
ด้วยปัจจัยในด้านผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีวิสัยทัศน์ ความรู้ความเข้าใจ ทําให้การบริหารจัดการศูนย์
พัฒนาเด็กเล็กเป็นไปอย่างดีเยี่ยม สูงเกินมาตรฐาน
ดังนั้น คณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงได้สรุปผลการดําเนินงาน
และเสนอให้คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ ชุดที่ ๒๔ เพื่อนําข้อเสนอแนะดังกล่าว
เสนอนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นนโยบายในการพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไป โดยมีข้อเสนอแนะ
แนวทางการแก้ไขปัญหาการดําเนินงานด้านเด็กปฐมวัย ดังนี้
๑. ด้านมาตรฐานการดําเนินงานด้านเด็กปฐมวัย ซึ่งพบว่า มีการใช้มาตรฐานการดําเนินงานที่มา
จากหลายหน่วยงานจนนําไปสู่ความซ้ําซ้อนและสับสนในการดําเนินงานตามมาตรฐาน โดยมีข้อเสนอแนะ คือ
- ควรผลักดันให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ และโรงเรียนที่เปิดสอนระดับปฐมวัยและบุคลากร
ที่เกี่ยวข้อง รับรู้และเข้าใจ “มาตรฐานศูนย์เด็กเล็กแห่งชาติ” ซึ่งเป็นมาตรฐานกลางที่มีความครอบคลุมรอบด้าน
รวมถึงการนํามาตรฐานไปใช้อย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาปฐมวัย และพัฒนาคุณภาพ
ของเด็กในทุกด้าน
- ควรเร่งสร้างกระบวนการสนับสนุนมาตรฐานศูนย์เด็กเล็กแห่งชาติ เช่น เครื่องมือการดําเนินงาน
ตามมาตรฐาน แบบประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย ฯลฯ โดยจัดทําเป็นมาตรฐานพื้นฐานร่วมฉบับเดียว แต่ให้แต่ละ
หน่วยงานไปจัดทํารายละเอียดเพิ่มเติมตามบริบทของแต่ละกระทรวง
- ควรวางแผนการพัฒนามาตรฐานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งชาติโดยมีความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
และกระทรวงสาธารณสุข
-๓-

- ควรมีการศึกษาวิจัยด้านการประกันคุณภาพการศึกษาปฐมวัยจากการวิจัยต่างประเทศ เพื่อใช้เป็น
แนวทางดําเนินการพัฒนาและกําหนดนโยบายพัฒนาให้ทัดเทียมสากล
๒. ด้านการประเมินผลการดําเนินงานด้านเด็กปฐมวัย โดยการประเมินผลการดําเนินงานศูนย์พัฒนา
เด็กเล็กยังไม่เป็นแบบแผนเดียวกันทั่วประเทศ และเน้นการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณซึ่งขาดการประเมินด้านคุณภาพ
และขาดการนําไปต่อยอดเพื่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย โดยมีข้อเสนอแนะ คือ ควรเร่งประเมินคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ทั่วประเทศ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ความพร้อมในภาพรวมและพิจารณาปรับปรุงวิธีการประเมินพัฒนาการของ
เด็กปฐมวัยโดยคํานึงถึงการประเมินเชิงคุณภาพควบคู่กับการประเมินเชิงปริมาณ เพื่อจุดมุ่งหมายสู่การพัฒนาเด็ก
ปฐมวัยเป็นสําคัญ
๓. ด้านผู้นําและบุคลากร จากการพิจารณาศึกษาพบว่า ผู้นําและผู้บริหารท้องถิ่นบางส่วน ขาดวิสัยทัศน์
และขาดความต่อเนื่องในการดํารงตําแหน่งซึ่งนําไปสู่ปัญหาการจัดการศึกษาในทุกด้าน นอกจากนี้บุคลากรในศูนย์
พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนที่เปิดสอนระดับปฐมวัยยังเป็นส่วนสําคัญในการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย แต่บุคลากร
ที่สําคัญเหล่านี้มักขาดโอกาสในการพัฒนาฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขาดความต่อเนื่องในการทํางาน โดยมี
ข้อเสนอแนะ คือ ควรมียุทธศาสตร์การพัฒนาผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบุคลากรผู้ดูแลเด็กในด้าน
การพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดการหลักสูตรฝึกอบรม เป็นต้น รวมถึงกําหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน
ความร่วมมือของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาปฐมวัย
๔. ด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์ ปัจจุบันความพร้อมของอาคารสถานที่ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
และโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนเด็กปฐมวัยมีความแตกต่างกันมาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้สูงมักจะมี
ความพร้อมทางด้านอาคารสถานที่มากกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้น้อยกว่า ซึ่งทําให้เกิดความเหลื่อมล้ํา
ในการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมีข้อเสนอแนะ คือ ควรให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกัน
ประเมินและพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแก่เด็กปฐมวัยให้ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ําของมาตรฐาน
ศูนย์เด็กเล็กแห่งชาติอย่างน้อยหนึ่งแห่งต่อหนึ่งตําบลทั่วประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยที่เหมาะสม
๕. ด้านงบประมาณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนที่เปิดสอนระดับปฐมวัยจํานวนมากประสบ
ปัญหาการขาดงบประมาณสนับสนุนการดําเนินงาน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบางแห่งได้รับการสนับสนุนจากภายนอก
เช่น ผู้ปกครองหรือบริษัทเอกชนในพื้นที่ โดยมีข้อเสนอแนะ คือ ควรให้ผู้นําและผู้บริหารท้องถิ่นจัดทําแผนพัฒนา
การจัดการศึกษาปฐมวัยโดยให้ความสําคัญเป็นลําดับต้น
๖. รัฐบาลควรดําเนินการจัดทํานโยบายสําคัญด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมีนโยบายเร่งด่วน
ภายใต้โครงการ “๑ ตําบล ๑ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีมาตรฐาน”ควบรวมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีหลายแห่งในพื้นที่
ตําบล หากพบว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใดมีมาตรฐานการดําเนินงานที่ต่ํากว่าเกณฑ์ และมีการเจรจาและจัดทําบันทึก
ความร่วมมือ (MOU) ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบการศึกษา
ในตําบล โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณเบื้องต้นที่ใช้ในการดําเนินงานควบรวมศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อช่วย
ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถดําเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

You might also like