Download as doc, pdf, or txt
Download as doc, pdf, or txt
You are on page 1of 14

บทที่ 5

ประเภทของกฎหมาย
อาจารย์ชมชื่น มัณยารมย์ : ผู้ปรับปรุง

การแบ่งแยกประเภทของกฎหมายนิยมทำกันในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย
ลายลักษณ์อักษร สำหรับประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นจะไม่นิยมแบ่ง
แยกประเภทของกฎหมาย การแบ่งประเภทของกฎหมายจะแบ่งออกเป็นประเภทใดบ้างต้อง
พิจารณาจากลักษณะในการแบ่ง ซึ่งมีการแบ่งใน 3 ลักษณะใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ แบ่งตามระบบ
กฎหมาย แบ่งตามลักษณะการใช้กฎหมาย และแบ่งตามเนื้อหาของกฎหมาย

1. การแบ่งตามระบบกฎหมาย
ระบบกฎหมายที่ใช้กันในปัจจุบันมีอยู่สองระบบ คือ ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร
และระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร การแบ่งประเภทของกฎหมายตามระบบกฎหมายจึง
แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.1 กฎหมายลายลักษณ์อักษร (Statutory Law )
กฎหมายลายลักษณ์อักษร คือ กฎหมายที่วางหลักเกณฑ์ของข้อกฎหมายไว้ชัดเจนแน่
นอน โดยบันทึกเป็นประโยคข้อความเกี่ยวกับหลักกฎหมายในแต่ละเรื่องนั้น
กฎหมายลายลักษณ์อักษรมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ
เป็นต้น ดังตัวอย่างกฎหมายเหล่านี้ คือ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พระราชบัญญัติ
ยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัติประกันสังคม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
เป็นต้น
1.2 กฎหมายไม่เป็ นลายลักษณ์อักษร หรือกฎหมายจารีตประเพณี (Customary
Law )
กฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือกฎหมายจารีตประเพณี คือ กฎหมายที่ใช้คำ
อธิบายเหตุและผลในคำวินิจฉัยของศาลสูงที่ตัดสินคดีซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเป็นหลักกฎหมาย โดย
นำจารีตประเพณีมาเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยเป็นส่วนใหญ่
หลักกฎหมายแต่ละเรื่องของกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษรนี้จะไม่บันทึกเป็นมาตรา
หรือเป็นข้อ ๆ อย่างกฎหมายลายลักษณ์อักษร แต่จะบันทึกไว้ในรูปของคำพิพากษาศาล
2. การแบ่งตามลักษณะการใช้กฎหมาย
การแบ่งประเภทของกฎหมายตามลักษณะการใช้ เป็นการแบ่งโดยคำนึงถึงบทบาท
ของกฎหมายในการนำไปใช้เป็นหลัก ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
2.1 กฎหมายสารบัญญัติ (Substantive Law)
กฎหมายสารบัญญัติ คือ กฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ของบุคคลทั้งในทาง
อาญาและทางแพ่ง และกล่าวถึงการกระทำที่กฎหมายกำหนดเป็นองค์ประกอบแห่งความผิด
2

กฎหมายสารบัญญัติทางอาญา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติต่างๆ ที่บัญญัติ


ความผิดทางอาญาและกำหนดโทษทางอาญาไว้ ส่วนกฎหมายสารบัญญัติทางแพ่ง ได้แก่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตลอดจนกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติถึงสิทธิของบุคคลในทางแพ่ง
ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 บัญญัติว่า “ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวาง
โทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต จำคุกตั้งแต่สิบห้าปี ถึงยี่สิบปี ”
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาท
เลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพ
ก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อ
การนั้น”
มาตรา 288 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่กำหนดถึงสิทธิและ
หน้าที่ของบุคคลในทางอาญา กล่าวคือ บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองในชีวิตและร่างกาย
ขณะเดียวกัน มาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็บัญญัติให้ทุกคนมีหน้าที่ไม่ไป
ละเมิดสิทธิในชีวิตร่างกายผู้อื่น กฎหมายตามตัวอย่างนี้จึงจัดเป็นรูปของกฎหมายสารบัญญัติ

2.2 กฎหมายวิธีสบัญญัติ (Procedural Law)


เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยวิธีปฏิบัติ กล่าวคือ การจะนำเอากฎหมายสารบัญญัติไปใช้จำเป็น
ต้องมีกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการซึ่งเราเรียกว่ากฎหมายวิธีสบัญญัติไปใช้ประกอบด้วย
ได้แก่ กฎหมายวิธีพิจารณาความต่างๆ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวล
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยพยานหลักฐาน เป็นต้น
กฎหมายวิธีสบัญญัติจะกำหนดถึงวิธีการและขั้นตอนในการใช้กฎหมาย ตัวอย่างเช่น ประมวล
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะกำหนดตั้งแต่อำนาจของเจ้าหน้าที่ พนักงานของรัฐในการดำเนิน
คดีอาญา การร้องทุกข์ การสอบสวนคดีโดยเจ้าพนักงาน การฟ้ องคดีต่อศาล การพิจารณาคดี การ
พิพากษาคดีในศาล การลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ก็
จะกำหนดเริ่มตั้งแต่การนำคดีแพ่งมาฟ้ องร้องต่อศาล หลักเกณฑ์การฟ้ องคดี การพิจารณาคดี และ
การบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา
ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า “การ
ฟ้ องคดีอาญา ให้ยื่นฟ้ องต่อศาลใดศาลหนึ่งที่มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือ
กฎหมายอื่น”
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 บัญญัติว่า “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น
เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคล
นั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและ
ประมวลกฎหมายนี้”
3

อย่างไรก็ดี ทั้งกฎหมายสารบัญญัติและกฎหมายวิธีสบัญญัติต่างก็มีความสำคัญซึ่งกัน
และกัน เมื่อเกิดมีการกระทำความผิดทางอาญาขึ้น เราจะรู้ได้ว่าเป็นความผิดทางอาญาก็เมื่อตรวจดู
จากตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ว่าเข้าลักษณะองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายและบท
ลงโทษสำหรับความผิดนั้นหรือไม่ กฎหมายที่กำหนดองค์ประกอบความผิดและโทษจึงเป็นกฎหมาย
สารบัญญัติ ส่วนกฎหมายที่กำหนดวิธีการและขั้นตอนในการใช้กฎหมายบังคับจึงเป็นกฎหมายวิธี
สบัญญัติ แต่ทั้งนี้กฎหมายบางฉบับก็มีทั้งส่วนที่เป็นกฎหมายสารบัญญัติและกฎหมายวิธีสบัญญัติ
ปะปนกันอยู่ เช่น พระราชบัญญัติล้มละลาย ซึ่งมีทั้งหลักเกณฑ์องค์ประกอบของกฎหมายและสภาพ
บังคับ แต่ขณะเดียวกันก็มีบทบัญญัติซึ่งกล่าวถึงวิธีการดำเนินคดีล้มละลายอยู่ด้วย จึงทำให้เป็น
กฎหมายทั้งสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติ

3. การแบ่งตามเนื้ อหาของกฎหมาย
การแบ่งแยกประเภทของกฎหมายตามเนื้อหาของกฎหมายนั้นสามารถแบ่งกฎหมาย
ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ กฎหมายมหาชน (Public Law) และกฎหมายเอกชน (Private
Law) ทั้งนี้นักนิติศาสตร์ได้ให้ความหมายของกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนไว้แตกต่างกัน
ดังนี้
อัลเปี ยน (Alpian) นักกฎหมายคนสำคัญในยุคโรมัน ได้ให้ความหมายของกฎหมาย
มหาชนและกฎหมายเอกชนไว้ว่า “กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐโรมัน ในขณะที่
กฎหมายเอกชนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของเอกชนแต่ละคน”
ศาสตราจารย์ มอริซ ดูแวร์เช (Maurice Duverger) แห่งมหาวิทยาลัยปารีส ได้อธิบาย
ไว้ว่า “กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่กล่าวถึงกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่เกี่ยวกับสถานะและอำนาจของผู้
ปกครอง รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครอง ส่วนกฎหมายเอกชนคือ
กฎหมายที่กล่าวถึงกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างผู้อยู่ใต้ปกครอง
ด้วยกันเอง”
ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย ได้อธิบายว่า “กฎหมายมหาชนได้แก่กฎหมายที่
กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร ในฐานะที่เป็นฝ่ ายปกครองราษฎร
กล่าวคือ ในฐานะที่รัฐมีฐานะเหนือราษฎร”
ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม ได้ให้ความหมายของกฎหมายมหาชนไว้ว่า หมายถึง
“กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมืองของรัฐและกำหนดฐานะของนิติบุคคล
หรือสถาบันในกฎหมายมหาชนกับเอกชน”
4

จากความเห็นของนักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงสามารถให้คำอธิบายอย่างกว้างๆ
เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนได้ดังนี้
กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงฐานะและอำนาจหน้าที่ของรัฐและพลเมือง
ของรัฐ หรือความเกี่ยวพันระหว่างรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับพลเมือง ได้แก่ กฎหมายอาญา กฎหมาย
ปกครอง กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้น
ส่วนกฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่กำหนดฐานะของเอกชน (บุคคลธรรมดาและ
นิติบุคคล) และวางระเบียบในเรื่องความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนด้วยกัน ได้แก่
กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ เป็นต้น
จากความหมายของกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนที่กล่าวมา เราสามารถเห็น
ความแตกต่างระหว่างกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน 3 ประการคือ
1. ความแตกต่างในลักษณะของ “องค์กร” เป็นความแตกต่างที่มองถึงคุณสมบัติ
ของบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่รัฐในฐานะผู้ปกครอง เข้ามามีส่วน
เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเกี่ยวพันระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน หรือความเกี่ยวพันระหว่าง
ตัวผู้ปกครองด้วยกันเอง หรือความเกี่ยวพันระหว่างตัวผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครอง ส่วน
กฎหมายเอกชนนั้นเป็นกฎหมายที่ใช้สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่ใต้การปกครองด้วยกันเอง
เท่านั้น ซึ่งผู้ปกครองไม่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย
2. ความแตกต่างในลักษณะของ “เนื้ อหา” เป็นความแตกต่างของเนื้อหาของ
กฎหมายแต่ละประเภทซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เป็นสำคัญ หมายความว่า กฎหมายมหาชนเป็น
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน หรือที่เรียกกันว่า “ประโยชน์สาธารณะ”
ส่วนกฎหมายเอกชนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสมาชิกแต่ละคนในสังคม ซึ่งเรา
เรียกว่า “ผลประโยชน์ส่วนบุคคล”
3. ความแตกต่างในลักษณะของ “รูปแบบ” เป็นความแตกต่างในเรื่องรูปแบบ
ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย หมายความว่า กฎหมายมหาชนจะมีลักษณะเป็นวิธีการบังคับ
ฝ่ ายเดียว บุคคลหนึ่งสามารถที่จะบังคับให้เกิดผลทางกฎหมายแก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ โดยไม่ต้องได้
รับการยินยอมจากอีกฝ่ ายหนึ่ง ตัวอย่างเช่น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจที่จะเรียกเกณฑ์ทหาร
ชายที่มีอายุครบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจในการเรียกเก็บภาษี
จากประชาชนตามกฎหมาย เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม กฎหมายเอกชนนั้นจะต้องถือหลักความ
ตกลงยินยอมของคู่กรณีเป็นสำคัญ บุคคลหนึ่งไม่สามารถที่จะบังคับบุคคลอีกคนหนึ่งให้มีผลผูกพัน
ตามกฎหมายได้ถ้าอีกฝ่ ายหนึ่งไม่ยินยอม ตัวอย่างเช่น บุคคลหนึ่งจะเรียกเก็บเงินจากอีกบุคคลหนึ่ง
โดยที่เขาไม่ได้เป็นหนี้นั้นไม่ได้
3.1 กฎหมายมหาชน (Public Law)
กฎหมายมหาชนอาจถูกแบ่งออกเป็นหลายลักษณะตามความคิดของนักนิติศาสตร์
แต่ละท่าน ศาสตราจารย์ Maurice Duverger ได้กล่าวไว้ว่า “การแบ่งประเภทของกฎหมายมหาชน
5

นั้นไม่สามารถแบ่งให้แน่นอนตายตัวลงไปได้ การแบ่งประเภทสาขาของกฎหมายมหาชนก็เพื่อ
เหตุผลในการเรียนการสอนเป็นหลักเท่านั้น เช่น แบ่งเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง
กฎหมายการคลัง เป็นต้น”
ส่วน Marie-Jose Quedon และ Louis Imbert อาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายมหาชน ของ
มหาวิทยาลัยปารีส 1 กล่าวว่า “กฎหมายมหาชนแบ่งเป็นกฎหมายมหาชนระหว่างประเทศ และ
กฎหมายมหาชนภายใน ซึ่งกฎหมายมหาชนภายในนั้นได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมาย
ปกครอง และกฎหมายการคลัง”
ส่วนนักนิติศาสตร์ของไทย ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้แบ่งสาขาของกฎหมาย
มหาชนภายในไว้ดังนี้
1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ
2. กฎหมายปกครอง
3. กฎหมายอาญา
4. กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลยุติธรรม
5. กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา
6. กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง
จากแนวความคิดของนักนิติศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้น พอสรุปได้ว่ากฎหมายมหาชนอาจ
ถูกแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

3.1.1 กฎหมายมหาชนภายใน
กฎหมายมหาชนภายในเป็นกฎหมายซึ่งบัญญัติถึงความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวพัน
ระหว่างรัฐกับพลเมืองของรัฐ กำหนดฐานะของนิติบุคคลหรือสถาบันในกฎหมายมหาชนกับเอกชน
ได้แก่
(1) กฎหมายรัฐธรรมนูญ (Constitutional Law)
กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายมหาชนภายในที่กำหนดหรือวางระเบียบ
การปกครองของรัฐในทางการเมือง การศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นการศึกษาถึงกฎเกณฑ์การ
ปกครองประเทศที่เป็นลายลักษณ์อักษร (รัฐธรรมนูญ) และศึกษาถึงกฎเกณฑ์การปกครองประเทศ
ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (จารีตประเพณีที่เป็นที่ยอมรับหรือรับรู้กันในทางปฏิบัติอย่างชัดเจน
แน่นอน) รวมทั้งศึกษาถึงบทบัญญัติของกฎหมายทั้งหลายที่ถูกตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตาม
รัฐธรรมนูญ เช่น พระราชบัญญัติพรรคการเมือง หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้รัฐธรรมนูญ เช่น
6

กฎหมายว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กฎมณเฑียรบาล)
เป็นต้น
คำว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” ต่างจากคำว่า “รัฐธรรมนูญ” รัฐธรรมนูญเป็นตัวบท
กฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่จัดวางระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครอง
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐธรรมนูญคือกฎเกณฑ์การปกครองประเทศด้านการเมือง รัฐธรรมนูญจะมี
สาระสำคัญเกี่ยวกับรูปของรัฐ ซึ่งอาจเป็นรัฐเดี่ยวหรือรัฐรวม รูปแบบประมุขของรัฐ ซึ่งอาจเป็น
กษัตริย์หรือประธานาธิบดี รูปแบบของสภานิติบัญญัติ ซึ่งอาจเป็นสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ รูปแบบของ
รัฐบาล ซึ่งอาจเป็นระบบประธานาธิบดีหรือระบบรัฐสภา การจัดตั้งศาลและความคุ้มกันที่ให้แก่ผู้
พิพากษา สิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของพลเมือง รวมถึงวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ส่วนกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นหลักกฎหมายที่ว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองใน
ทางการเมือง ไม่ใช่ตัวบทกฎหมาย ดังนั้นการอ้างถึงรัฐธรรมนูญโดยเรียกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ
มาตรานั้นมาตรานี้ จึงเป็นการเรียกที่ไม่ถูกต้อง เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลักกฎหมายที่กล่าว
ถึงกฎหมายหลายเรื่องหลายฉบับไม่ใช่แต่รัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนรัฐธรรมนูญเป็นตัวบทกฎหมาย
ฉบับหนึ่งและแบ่งออกเป็นมาตรา
(2) กฎหมายปกครอง (Administrative Law) กฎหมายปกครองเป็ นส่วนหนึ่งของ
กฎหมายมหาชนที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองรัฐในทางปกครอง หรือที่เรียกว่าการ
จัดระเบียบราชการบริหาร และการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ ายปกครอง หรือที่เรียกว่าการ
จัดทำบริการสาธารณะ นอกจากนี้ กฎหมายปกครองยังรวมถึงความเกี่ยวพันในทางปกครองระหว่าง
ฝ่ า ย ป ก ค ร อ ง กั บ เ อ ก ช น ผู้ อ ยู่ ใ ต้ ก า ร
ปกครองด้วย
การจัดระเบียบการปกครองมีหลักทั่วไปที่ใช้อยู่ในประเทศต่างๆ 2 ประการคือ
ก. หลักการรวมอำนาจปกครอง (Centralization) เป็นวิธีการจัดระเบียบการ
ปกครองที่กำหนดให้ส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โดยส่วนกลางจะรวม
อำนาจปกครองทั้งหมดไว้ในส่วนกลาง หลักการรวมอำนาจปกครองมีลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดคือ
มีการรวมกำลังในการบังคับต่างๆ คือ ทหาร ตำรวจ ให้ขึ้นต่อส่วนกลางทั้งสิ้น เพื่อรักษาความสงบ
เรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ อำนาจวินิจฉัยสั่งการขั้นสุดท้ายอยู่แก่ส่วนกลาง ซึ่งส่วนกลาง
จะมีอำนาจสั่งการได้ทั่วประเทศ รวมตลอดถึงเจ้าหน้าที่ส่วนกลางที่ถูกส่งไปประจำยังส่วนภูมิภาค
ด้วย เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการปกครองจะมีความสัมพันธ์กันและกันอย่างใกล้ชิด และขึ้นต่อกันตาม
7

ลำดับบังคับบัญชา นโยบายในการปกครองประเทศรวมทั้งด้านการต่างประเทศ ส่วนกลางจะเป็น


ผู้รับผิดชอบดำเนินการ
หลักการรวมอำนาจย่อมมีผลดีทำให้ประเทศเกิดความมั่นคงและประชาชนได้รับ
ประโยชน์อย่างเสมอภาคทั่วถึงกัน แต่ก็มีผลเสียโดยเฉพาะความชักช้าเกี่ยวกับแบบแผนของงาน
บริหาร ข้อเสียนี้สามารถแก้ไขได้โดยวิธีการขยายหลักการรวมอำนาจปกครองด้วยหลักการแบ่ง
อำนาจปกครองให้แก่ส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงานดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยมอบ
อำนาจวินิจฉัยสั่งการบางส่วนให้แก่เจ้าหน้าที่ส่วนกลางซึ่งออกไปประจำในส่วนภูมิภาค
ข. หลักการกระจายอำนาจปกครอง (Decentralization) เป็นวิธีการจัดระเบียบการ
ปกครองซึ่งรัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรอื่นที่มีอิสระตามสมควรในการดำเนินการ
ปกครองได้เอง ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจปกครองมายังองค์กรนั้นโดยเด็ดขาด ไม่ต้องขึ้นอยู่ใน
บังคับบัญชาของส่วนกลาง เพียงแต่อยู่ในความควบคุมดูแลกำกับเท่านั้น องค์กรที่ได้รับอำนาจจะ
ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นหรือส่วนการปกครองของตนเอง ในกิจการที่เกี่ยวกับท้องถิ่น
หลักการนี้เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักเสียสละและรับผิดชอบในท้องถิ่นของตน แต่
ผลเสียก็คือ หากกระจายอำนาจมากเกินไป แต่ละท้องถิ่นก็จะแข่งกัน และทำให้ขาดการคำนึงถึง
ประโยชน์ส่วนรวม แต่จะถือพรรคถือพวกหรือกลุ่มของตน นอกจากนี้ การกระจายอำนาจปกครอง
จะทำให้สิ้นเปลืองทั้งบุคลากร เครื่องมือเครื่องใช้ และงบประมาณต่างๆ มากกว่าการปกครองแบบ
รวมอำนาจ
หลักการกระจายอำนาจปกครองมีลักษณะสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
ก. มีการแยกหน่วยงานออกไปเป็นองค์การนิติบุคคลอิสระจากองค์การของการ บริหาร
ส่วนกลาง นิติบุคคลดังกล่าวจะเป็นองค์การนิติบุคคลในกฎหมายมหาชนที่มีงบประมาณและเจ้า
หน้าที่ของตนเอง ในการจัดทำบริการสาธารณะให้แก่ท้องถิ่นของตน
ข. มีการเลือกตั้ง องค์การของการบริหารส่วนท้องถิ่นย่อมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของ
ตน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากราษฎรในท้องถิ่น
ค. มีความเป็นอิสระ (Autonomy) ในการดำเนินงานด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่
ของตนเอง กล่าวคือ มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการและดำเนินกิจการด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตน
โดยไม่ต้องได้รับคำสั่งหรืออยู่ใต้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นของการบริหารส่วนกลาง
(3) กฎหมายอาญา (Criminal Law)
กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กำหนดถึงการกระทำที่เป็นความผิดและบทลงโทษ
สำหรับความผิดนั้นๆ เนื่องจากรัฐมีหน้าที่รักษาความสงบของบ้านเมือง กฎหมายอาญาจึง
กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎรซึ่งกระทำความผิดขึ้น
8

กฎหมายอาญาของไทยบัญญัติไว้ในรูปประมวลกฎหมาย ในประวัติศาสตร์ประเทศไทย
ได้เริ่มใช้กฎหมายลักษณะอาญา เมื่อร.ศ. 127 ต่อมาสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ได้มีการ
ปรับปรุงกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ให้เหมาะสมและประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาเมื่อ
พ.ศ. 2500 ซึ่งใช้เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน
กฎหมายอาญามีลักษณะสำคัญ 2 ส่วนคือ
1. ส่วนที่บัญญัติถึงความผิด หมายถึง บทบัญญัติที่ว่าการกระทำและการงดเว้น
กระทำการอย่างใดเป็นความผิดอาญา
2. ส่วนที่บัญญัติถึงโทษ หมายถึง บทบัญญัตินั้นๆ นอกจากจะได้ระบุว่าการกระทำ
หรืองดเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิดแล้ว ต้องกำหนดโทษอาญาสำหรับความผิดนั้นๆ ไว้ด้วย
ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 บัญญัติว่า “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวาง
โทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต จำคุกตั้งแต่สิบห้าปี ถึงยี่สิบปี ”
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 บัญญัติว่า “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้
เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำ
ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำ
ทั้งปรับ”
โทษอาญาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่
(1) ประหารชีวิต
(2) จำคุก
(3) กักขัง
(4) ปรับ
(5) ริบทรัพย์สิน
นอกจากโทษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติอื่น
ที่กำหนดความผิดเฉพาะเรื่องและวางโทษไว้ด้วย เช่น พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพระราช
บัญญัติอาวุธปื น เครื่องปื น และวัตถุระเบิด พระราชบัญญัติการพนัน พระราชบัญญัติจราจรทาง
บก พระราชบัญญัติศุลกากร เป็นต้น
หลักเกณฑ์สำคัญของกฎหมายอาญา มีดังนี้
1. จะไม่มีความผิดโดยไม่มีกฎหมาย หมายความว่า กฎหมายอาญาจะใช้บังคับได้
เฉพาะการกระทำซึ่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นถือว่าเป็นความผิด ถ้ากฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำ
ไม่ถือว่าเป็นความผิดแล้ว จะถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดไม่ได้ และจะลงโทษไม่ได้ นอกจากนี้
กฎหมายอาญาจะไม่มีผลย้อนหลัง หลักที่ว่ากฎหมายไม่ให้ย้อนหลังนี้ก็เฉพาะที่จะเป็นผลร้ายแก่ผู้
กระทำความผิดเท่านั้น หากกฎหมายใหม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่ากฎหมายเก่า
กฎหมายก็ให้มีผลย้อนหลังได้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้
ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายใน
ส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด...”
9

2. จะไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย กล่าวคือบุคคลจะต้องรับโทษต่อเมื่อมีกฎหมายที่ใช้
อยู่ในขณะกระทำบัญญัติให้ต้องรับโทษนั้นๆ เช่น การกระทำความผิดที่มีแต่โทษปรับ ศาลก็ลงโทษ
ได้แต่โทษปรับ ศาลจะลงโทษจำคุกซึ่งไม่ใช่โทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้
3. จะต้องตีความกฎหมายอาญาโดยเคร่งครัด กล่าวคือ กรณีที่ถ้อยคำของกฎหมาย
เป็นที่น่าสงสัย จะตีความโดยขยายความไปลงโทษหรือเพิ่มโทษผู้ต้องหาไม่ได้ แต่อาจตีความโดย
ขยายความให้เป็นผลดีแก่ผู้ต้องหาได้ ฉะนั้น หลักเกณฑ์ของกฎหมายอาญาจึงเกิดโดยตรงจากตัวบท
เท่านั้น และการตีความบทบัญญัติทั้งหลายก็จะต้องตีความโดยเคร่งครัดด้วย กล่าวคือ การกระทำที่
ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้น จะต้องอยู่ในความหมายตามปกติธรรมดาของถ้อยคำทั้งหลายที่ใช้ใน
กฎหมายนั้น จะขยายความคำเหล่านั้นออกไปไม่ได้
4. การอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย ในกรณีที่ประมวลกฎหมายอาญาหรือพระราช
บัญญัติอื่นไม่มีบทบัญญัติความผิดและโทษ ซึ่งเรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่าช่องว่างแห่งกฎหมายนั้น
ศาลจะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายให้เป็นผลร้ายแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้ แต่ศาลอาจอุดช่องว่าง
แห่งกฎหมายเพื่อให้เป็นผลดีแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้
กฎหมายอาญามีความประสงค์ที่จะคุ้มครองความปลอดภัยของชุมชน แต่กฎหมายแพ่ง
มีความประสงค์ที่จะคุ้มครองสิทธิของเอกชน ดังนั้น กฎหมายอาญาจึงมีข้อแตกต่างจากกฎหมาย
แพ่งดังพอสรุปได้ดังนี้
1. กฎหมายอาญาเป็นการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดผลเสียหายหรือเกิดความ
หวาดหวั่นแก่บุคคลทั่วไป จึงถือว่าเป็นความผิดต่อแผ่นดินหรือต่อสังคม ส่วนกฎหมายแพ่งเป็น
เรื่องระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกัน ไม่มีผลเสียหายต่อสังคมแต่อย่างใด
2. กฎหมายอาญามีวัตถุประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิด ดังนั้น หากผู้ทำผิด
ตายลง การสืบสวนสอบสวน การฟ้ องร้อง หรือการลงโทษก็เป็นอันระงับไป ส่วนกฎหมายแพ่ง
เป็นเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล
ดังนั้น เมื่อผู้กระทำผิดหรือผู้ละเมิดตายลง ผู้เสียหายย่อมฟ้ องร้องเรียกค่าเสียหายจากกองมรดก
ของผู้กระทำผิดหรือผู้ละเมิดได้ เว้นแต่จะเป็นหนี้เฉพาะตัว เช่น แดงจ้างดำวาดรูป ต่อมาดำตายลง
ถือว่าหนี้ระงับลง
3. ความรับผิดทางอาญาถือเจตนาเป็นใหญ่ในการกำหนดโทษ เนื่องจากการกระทำผิด
ดังที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 บัญญัติว่า “บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำ
โดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำ
โดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มี
เจตนา...” ส่วนความรับผิดทางแพ่งนั้น ไม่ว่ากระทำโดยเจตนาหรือประมาทผู้กระทำก็ต้องรับผิด
ทั้งนั้น
10

4. กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้าไม่มีกฎหมายย่อมไม่มีความผิดและ
ไม่มีโทษ เพราะกฎหมายอาญามีโทษรุนแรง แต่ในกฎหมายแพ่ง หลักเรื่องการตีความโดยเคร่งครัด
ไม่มี กฎหมายแพ่งต้องตีความตามตัวอักษรหรือตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ดัง
นั้น ความผิดทางแพ่งศาลอาจตีความขยายได้
5. ความรับผิดทางอาญานั้น โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดได้แก่ โทษประหารชีวิต จำคุก
กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน ส่วนกฎหมายแพ่งนั้นไม่มีโทษ เป็นเพียงถูกบังคับให้ชำระหนี้หรือชดใช้ค่า
สินไหมทดแทน
6. ความผิดทางอาญาส่วนใหญ่ไม่อาจยอมความได้ เว้นแต่ความผิดต่อส่วนตัวหรือที่
กฎหมายอาญาบัญญัติไว้ ความผิดอันยอมความได้ ได้แก่ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดฐาน
ยักยอก เป็นต้น เนื่องจากความผิดทางอาญาถือว่าทำความเสียหายให้แก่มหาชน ทำลายความสงบ
สุขของบ้านเมือง ผู้เสียหายจึงไม่อาจยกเว้นความรับผิดให้ได้ ส่วนความรับผิดในทางแพ่ง ผู้เสียหาย
อาจยกเว้นความรับผิดให้ได้โดยไม่นำคดีขึ้นฟ้ องร้องต่อศาล หรือเรียกร้องหนี้สินแต่อย่างใด
7. ความผิดทางอาญา บุคคลที่ร่วมกระทำผิดอาจมีความผิดมากน้อยต่างกันตาม
ลักษณะของการเข้าร่วม เช่น ถ้าเป็นผู้ลงมือกระทำผิดก็ถือเป็นตัวการ ถ้าเพียงแต่ยุยงหรือช่วยเหลือ
ก็อาจผิดเพียงฐานะผู้สนับสนุน ส่วนความผิดในทางแพ่ง ผู้ที่ร่วมกันก่อหนี้ ร่วมกันทำผิดสัญญา
หรือร่วมกันทำละเมิด จะต้องร่วมกันรับผิดต่อเจ้าหนี้หรือผู้ได้รับความเสียหายเหมือนกันหมด
8. ความผิดทางอาญา การลงโทษผู้กระทำผิดมีวัตถุประสงค์เพื่อบำบัดความเสียหายที่
เกิดขึ้นแก่ชุมชนเป็นส่วนรวม เพื่อให้ผู้กระทำผิดเกิดความหลาบจำและกลับตัวกลับใจเป็นคนดี
อีกทั้งเพื่อป้ องกันผู้อื่นมิให้เอาเยี่ยงอย่าง ส่วนความรับผิดทางแพ่ง กฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะ
บำบัดความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เอกชนคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ ซึ่งอาจได้รับความเสียหายแก่ชีวิต
ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน เมื่อความเสียหายได้เกิดขึ้นอย่างใด กฎหมายก็
ต้องการที่จะให้เขาได้รับการชดใช้ในความเสียหายอย่างนั้น ถ้าทำให้คืนสภาพเดิมไม่ได้ก็พยายามจะ
ให้ใกล้เคียงมากที่สุด
(4) กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลยุติธรรม (Law of Constitution of Court of Justice)
กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลยุติธรรม คือ พระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งเป็นกฎหมายที่
ว่าด้วยการจัดตั้งศาล และอำนาจในการพิจารณาคดีพิพากษาของศาลและผู้พิพากษา บทบัญญัติของ
กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลยุติธรรมได้แยกงานของกระทรวงยุติธรรมออกเป็นงานธุรการและงาน
ตุลาการ งานธุรการของศาลกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนงาน
ตุลาการนั้นมีประธานศาลฎีกาเป็นประมุขของฝ่ ายตุลาการ ซึ่งอำนาจในการดำเนินการพิจารณาคดี
11

รวมตลอดถึงการที่จะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาบังคับคดีให้เสร็จเด็ดขาดให้อยู่ในดุลพินิจของศาลโดย
เฉพาะ
ศาลยุติธรรม แบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ
1. ศาลชั้นต้น
2. ศาลอุธรณ์
3. ศาลฎีกา (ศาลสูงสุด)
ศาลชั้นต้น เป็นศาลรับฟ้ องชั้นเริ่มดำเนินคดี (ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา) ศาล
ชั้นต้นแบ่งออกเป็นหลายประเภท โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลาง
ของการค้าและอุตสาหการม คดีแต่ละประเภทจะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ศาลในกรุงเทพมหานคร
ส่วนมากเป็นศาลใหญ่และแบ่งศาลตามประเภทคดี ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลอาญา ส่วนศาลในจังหวัด
อื่นจะรวมทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา มิได้แบ่งศาลตามประเภทคดีอย่างในกรุงเทพมหานคร ศาลชั้น
ต้นในจังหวัดอื่นจะมีอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ศาล หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับอาณาเขตของจังหวัด
จำนวนคดี และความสะดวกในการคมนาคม
ศาลที่มีฐานะเป็นศาลชั้นต้น มีดังนี้
1. ศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่
ก. ศาลแขวง
ข. ศาลจังหวัดมีนบุรี
ค. ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญาธนบุรี
ง. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้
จ. ศาลแพ่ง ศาลอาญา
ในจังหวัดอื่นๆ ได้แก่
ก. ศาลแขวง
ข. ศาลจังหวัด
2. ศาลชั้นต้นตามกฎหมายอื่น ได้แก่
ก. ศาลเยาวชนและครอบครัว
ข. ศาลแรงงาน
ค. ศาลภาษีอากร
ง. ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
จ. ศาลล้มละลาย
12

ศาลอุทธรณ์ เป็นศาลสูงชั้นกลาง ซึ่งเปิ ดโอกาสให้คู่ความมีสิทธิร้องขอให้ศาลสูงที่


ประกอบด้วยผู้พิพากษาที่มีความรู้และประสบการณ์มากกว่า ได้ทำการพิจารณาพิพากษาคดีอีกชั้น
หนึ่ง นับเป็นหลักประกันความยุติธรรมได้เป็นอย่างดี พระธรรมนูญศาลยุติธรรมบัญญัติให้ศาล
อุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น คดีทุกคดีไม่ว่า
คดีแพ่งหรือคดีอาญา เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาแล้ว หากคู่ความฝ่ ายหนึ่งฝ่ ายใดไม่พอใจใน
คำพิพากษาก็อาจอุทธรณ์ไปศาลอุทธรณ์ได้เสมอ เว้นแต่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยวิธี
พิจารณาความนั้น ๆ
ศาลฎีกา เป็นศาลสูงสุด มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา
หรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามบทบัญญัติว่าด้วยการฎีกา กล่าวคือ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วคู่
ความไม่พอใจ ก็สามารถฎีกาต่อศาลฎีกาให้วินิจฉัยอีกชั้นหนึ่งเป็นชั้นสุดท้าย แต่มิได้ หมายความว่า
จะฎีกาได้ทุกเรื่อง เรื่องที่จะฎีกาได้ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ
ว่าด้วยการฎีกา เรื่องที่กฎหมายกำหนดห้ามฎีกาไว้จะมีเฉพาะในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนปัญหาข้อ
กฎหมายนั้นคู่ความฎีกาได้เสมอ
(5) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา (Law of Criminal Procedures)
กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธี
ดำเนินการของพนักงานสอบสวนและศาลในการเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ได้แก่ ประมวล
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งบัญญัติขั้นตอนในการปฏิบัติที่สอดคล้องกับประมวลกฎหมาย
อาญาซึ่งเป็นเรื่องทางทฤษฎี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 เป็นหลัก
กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งใช้จนถึงปัจจุบัน แต่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง
(6) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง (Law of Civil Procedures)
กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการบังคับของเอกชนใน
ทางแพ่ง เพราะเมื่อราษฎรประสงค์จะให้รัฐบังคับตามสิทธิ จึงเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องดำเนินการ
ให้เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.
2477 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้งและใช้จนถึงปัจจุบัน

3.1.2 กฎหมายมหาชนภายนอก
กฎหมายมหาชนภายนอกหรือกฎหมายมหาชนระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายซึ่งบัญญัติ
ถึงความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวพันระหว่างรัฐต่อรัฐ
13

กฎหมายมหาชนภายนอก ได้แก่ กฎหมายระหว่างประเทศ (The International


Law)หมายถึงบรรดากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่โดยจารีตประเพณี หรือโดยการตราขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์
อักษรโดยนานาอารยประเทศ หรือโดยความตกลงระหว่างประเทศ ใช้บังคับความสัมพันธ์ระหว่าง
สมาชิกของสังคมระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่รัฐและองค์การระหว่างประเทศ รวมไปถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ
เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของเอกชนหรือสถาบันใดๆ ที่ไม่มีฐานะเท่ารัฐในกรณีที่เกี่ยวข้องกับกิจการ
ระหว่างประเทศ
ในสังคมระหว่างประเทศ ประเทศทั้งหลายต่างมีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกันได้หลาย
ประการ กฎหมายระหว่างประเทศจึงอาจจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะของความเกี่ยว
พันดังนี้
1. กฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมือง เป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ของ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างรัฐบาลของประเทศหนึ่งกับรัฐบาลของอีกประเทศหนึ่ง
เนื่องจากรัฐเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศจึงย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่าง
ประเทศในการปฏิบัติต่อกันในความสัมพันธ์ช่วงเวลาสันติและช่วงเวลาที่เกิดกรณีพิพาท รวมไปถึง
สงคราม
2. กฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์
ในทางคดีบุคคล ความสัมพันธ์ในรูปนี้ได้แก่ ความเกี่ยวพันในสิทธิและหน้าที่ทางแพ่งของพลเมือง
ของประเทศหนึ่งกับพลเมืองของประเทศอื่น ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในประเทศของเขาเองหรือเข้ามาอยู่ใน
อีกประเทศหนึ่งในฐานะผู้อาศัย ตลอดจนความเกี่ยวพันระหว่างคนต่างชาติด้วยกันเองที่เข้าไปพำนัก
อยู่ในประเทศอื่น ความเกี่ยวพันระหว่างพลเมืองของประเทศที่ต่างกันนี้ อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคล
ทรัพย์ หนี้สิน และการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เป็นต้น
3. กฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีอาญา เป็นกฎหมายซึ่งประเทศหนึ่งได้ตราขึ้น
ไว้ให้อำนาจแก่ศาลยุติธรรมภายในประเทศของตน ในอันที่จะใช้กฎหมายอาญาของตนบังคับแก่
บุคคลสัญชาติตนในรัฐต่างประเทศได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ก่ออาชญากรรมในประเทศหนึ่งได้หลบหนีไป
อีกประเทศหนึ่ง ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมและเพื่อความ
ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ประเทศทั้งหลายจึงมักจัดทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน
การส่งผู้ร้ายข้ามแดน หมายถึง การที่รัฐหนึ่งส่งบุคคลผู้ต้องหาว่ากระทำผิดหรือผู้ซึ่ง
ต้องคำพิพากษาว่ามีความผิดและลงโทษแล้ว ไปยังรัฐซึ่งบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหาว่าได้กระทำผิดทาง
อาญา และมีอำนาจที่จะพิจารณาและลงโทษการกระทำผิดนั้น กล่าวคือ เป็นการที่ประเทศหนึ่งซึ่ง
เรียกว่า ผู้รับคำขอ ส่งมอบตัวบุคคลที่ได้กระทำผิดให้แก่อีกประเทศหนึ่งซึ่งเรียกว่าผู้ร้องขอ และ
ผู้ร้องขอดังกล่าวมีอำนาจพิจารณาและลงโทษการกระทำผิดนั้น อย่างไรก็ตาม การส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ให้กับประเทศอื่นนั้น มิใช่หน้าที่ตามกฎหมายที่ทุกประเทศจะต้องปฏิบัติเสมอไป เพราะแต่ละ
ประเทศย่อมมีอำนาจที่จะให้ความคุ้มครองผู้ที่หลบหนีมาสำหรับความผิดบางอย่าง เช่น ความผิด
ทางการเมือง ดังนั้น ประเทศผู้รับคำขออาจสงวนสิทธิไม่ยอมส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันก็ได้สำหรับ
ประเทศไทย ได้จัดทำมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้กับหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา
เบลเยี่ยม สเปญ อิตาลี และมาเลเซีย
14

3.2 กฎหมายเอกชน (Private Law)


กฎหมายเอกชน คือกฎหมายที่กำหนดสิทธิหน้าที่และความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนกับ
เอกชนด้วยกันในฐานะที่เท่าเทียมกัน กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่คุ้มครองความเสมอภาคของบุคคลใน
เรื่องเกี่ยวกับการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต กฎหมายเอกชน แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
ได้แก่ กฎหมายแพ่ง และกฎหมายพาณิชย์
3.2.1 กฎหมายแพ่ง (Civil Law)
กฎหมายแพ่ง คือ กฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของบุคคล หลักกฎหมาย
ที่เป็นกฎหมายแพ่งจะกำหนดเกี่ยวกับเรื่อง บุคคล หนี้ นิติกรรม ทรัพย์สิน ครอบครัว มรดก
และเรื่องอื่น ๆ ที่กำหนดสิทธิในทางแพ่ง
3.2.2 กฎหมายพาณิชย์ (Commercial Law)
กฎหมายพาณิชย์ คือ กฎหมายเกี่ยวกับการค้าขายหรือการประกอบธุรกิจ หลัก
กฎหมายที่เป็นกฎหมายพาณิชย์จะกำหนดเกี่ยวกับเรื่อง สัญญา ไม่ว่าเป็นสัญญามีชื่อหรือสัญญา
ไม่มีชื่อ

สำหรับประเทศไทย ได้รวมเอากฎหมายแพ่งและกฎหมายพาณิชย์เข้าไว้ด้วยกันใน
กฎหมายเล่มเดียวกัน คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ของไทยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 6 บรรพ (ตอน) ได้แก่
บรรพ 1 หลักเกณฑ์ทั่วไป
บรรพ 2 หนี้
บรรพ 3 เอกเทศสัญญา
บรรพ 4 ทรัพย์สิน
บรรพ 5 ครอบครัว
บรรพ 6 มรดก

**************************

You might also like